วารสารศาสนศาสตร์โปรเตสแตนต์ไทย

เล่มที่ 3 ฉบับที่ 1 – มิถุนายน 2025


พระวิญญาณและไฟ: กู้คืนความหมายที่แท้จริงของ มัทธิว 3:11 จากการตีความที่ผิดเพี้ยนโดยอ้างอิงเพียงประสบการณ์

วันที่: 9 มิถุนายน 2025

บทคัดย่อ

บทความนี้พิจารณาวลี “การบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และไฟ” ซึ่งพบในพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 และพระธรรมคู่ขนานในมาระโก บทที่ 1 ข้อ 8 โดยเป็นการตอบโต้การตีความของคริสตจักรและพันธกิจหลายแห่งในประเทศไทย ที่ถือว่า “ไฟ” หมายถึงการสำแดงเหนือธรรมชาติ เช่น การตัวสั่น การอาเจียน การล้มลง การหัวเราะ หรือแม้แต่การทำเสียงเลียนแบบสัตว์ในระหว่างการนมัสการ บทความนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมุมมองแบบคริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอล โดยให้เหตุผลว่าบริบทของพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 โดยเฉพาะข้อ 10 และ 12 ได้วางกรอบของไฟในฐานะสัญลักษณ์ของ “การพิพากษา” จากพระเจ้าไว้อย่างชัดเจน มิใช่ “การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ”

อีกทั้งบทความนี้ได้แสดงให้เห็นว่า วลีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะอ้างถึงการกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวของ การชำระให้บริสุทธิ์ด้วยพระวิญญาณและไฟ หรือ ไม่ก็เป็นผลลัพธ์สองประการ ได้แก่ พระวิญญาณสำหรับผู้ที่กลับใจ (ผู้เชื่อ) และไฟสำหรับผู้ที่ไม่กลับใจ [ผู้ไม่เชื่อ] โดยผ่านการวิเคราะห์เชิงอรรถาธิบายและการศึกษาจากนักวิชาการผู้ทรงอิทธิพล เช่น ศ.ดร. บลอมเบิร์ก (Blomberg) ศ.ดร. คาร์สัน (Carson) ศ.ดร. มอร์ริส (Morris) ศ.ดร. ฟรานซ์ (France) ศ.ดร. กรูเด็ม (Grudem) ท่าน กิลล์ (Gill) ศ.ดร. คีนเนอร์ (Keener) และ ศ.ดร. สตอร์มส์ (Storms) นอกจากนี้ บทความยังกล่าวถึงการใช้ธรรมเนียมความเชื่อล้ำลึกของชาวยิวและการตีความที่อิงประสบการณ์อย่างผิดพลาด พร้อมนำเสนอแนวทางที่ถูกต้องโดยการยืนยันบทบาทตามหลักการพระคัมภีร์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการบังเกิดใหม่ การชำระให้บริสุทธิ์ และพันธกิจที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง

บทนำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวภายในคริสตจักรไทยบางกลุ่มได้ให้ความสำคัญกับการสำแดงทางอารมณ์และทางกายภาพในฐานะหมายสำคัญของ การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ ฝ่ายวิญญาณ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมี พระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 เป็นข้อพระคัมภีร์หลักที่มักถูกยกมาสนับสนุนการสำแดงที่เกิดขึ้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับยอห์นผู้ให้บัพติศมากล่าวถึงผู้ที่จะ "บัพติศมาพวกท่านด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ" ซึ่งคริสตจักรไทยหลายแห่งตีความข้อนี้ในความหมายของ การเผชิญหน้าที่เหนือธรรมชาติกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งมาพร้อมกับหมายสำคัญที่มองเห็นได้ เช่น การตัวสั่น การอาเจียน การล้มลงกับพื้น การหัวเราะ หรือแม้กระทั่งการทำเสียงเลียนแบบสัตว์ระหว่างการนมัสการ

อย่างไรก็ตาม การตีความเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลทางศาสนศาสตร์ที่สำคัญหลายประการ โดยเป็นการแยกคำว่า "ไฟ" ออกไปจากบริบท (เป็นการผิดจากบริบท) ในพระคัมภีร์โดยตรง ซึ่งให้ความสำคัญกับการพิพากษาและการชำระให้บริสุทธิ์ มากกว่าประสบการณ์ที่เร่าร้อน บทความนี้จึงนำเสนอการตีความพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 และพระธรรมคู่ขนานใน มาระโก บทที่ 1 ข้อ 8 อย่างรอบคอบ ตามบริบท และสอดคล้องกับพระคัมภีร์ โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากนักวิชาการอีแวนเจลิคัลที่ได้รับการยอมรับ อาทิ ศ.ดร. บลอมเบิร์ก (Blomberg) ศ.ดร. คาร์สัน (Carson) ศ.ดร. มอร์ริส (Morris) ศ.ดร. ฟรานซ์ (France) ศ.ดร. กรูเด็ม (Grudem) ท่าน กิลล์ (Gill) ศ.ดร. คีนเนอร์ (Keener) และ ศ.ดร. สตอร์มส์ (Storms) บทความนี้ยังได้นำเสนอแนวทางแก้ไขสำหรับการตีความที่ขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ และเรียกร้องให้คริสตจักรไทยกลับมาสู่หลักศาสนศาสตร์ที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณ ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของสิทธิอำนาจแห่งพระคัมภีร์ พระราชกิจแห่งการชำระให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และพันธกิจแห่งการไถ่ของพระคริสต์

การตีความ “ไฟ” ที่ผิดเพี้ยน: บทสะท้อนเชิงศาสนาสตร์จากมาระโก 1:8 และมัทธิว 3:11

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คริสเตียนไทยได้เห็นความหลงใหลในปรากฏการณ์ฝ่ายวิญญาณที่เติบโตมากขึ้น ซึ่งมักถูกอ้างว่าเป็น การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ (Empowerment) ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยมีข้อพระคัมภีร์สำคัญที่ใช้สนับสนุนปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ พระธรรมมาระโก บทที่ 1 ข้อ 8 กล่าวว่า “ข้าพเจ้าให้พวกท่านรับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่พระองค์จะทรงให้พวกท่านรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (THSV11‬‬) และพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 ที่เพิ่มวลีว่า “และด้วยไฟ” คริสตจักรไทยหลายแห่ง ตีความการรับบัพติศมา “ด้วยไฟ” นี้ในความหมายของประสบการณ์เหนือธรรมชาติที่เป็นรูปแบบของการเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ (Empowerment) และ มักเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางกายภาพอย่างรุนแรง เช่น ตัวสั่น ล้มลง หัวเราะอย่างควบคุมไม่ได้ หรือแม้กระทั่งอาเจียนระหว่างการนมัสการ อย่างไรก็ตาม การตีความลักษณะนี้ไม่เพียงแต่ บิดเบือนความหมายตามพระคัมภีร์ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเบี่ยงเบนอันน่าเป็นห่วง จากการอรรถวิเคราะห์พระคัมภีร์ที่ถูกต้อง (Sound exegesis) และหลักศาสนศาสตร์ที่ซื่อตรง (Theological integrity)

บริบทโดยตรง: “ไฟ” คือการพิพากษา ไม่ใช่การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ

ประเด็นหลักอยู่ที่ บริบท ของข้อพระคัมภีร์ดังกล่าว ในพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11–12 ข้อถัดไปจากนั้นได้อธิบายความหมายของคำว่า “ไฟ” ไว้อย่างชัดเจน ว่า “พระองค์ทรงถือพลั่วอยู่ในพระหัตถ์แล้ว… แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่มีวันดับ” ภาพที่ปรากฏคือภาพแห่ง การแยกออก และ การพิพากษา ซึ่งผู้ชอบธรรมถูกรวบรวมเหมือนข้าวสาลี และคนชั่วร้ายถูกเผาผลาญเหมือนแกลบ อุปมาทางเกษตรกรรมนี้สอดคล้องกับธรรมเนียมการพยากรณ์และคำสอนเกี่ยวกับยุคสุดท้ายเรื่องการพิพากษาของพระเจ้า (มาลาคี 4:1; อิสยาห์ 66:15–16) คำว่า “ไฟ” ในข้อนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของ การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจจากพระเจ้า (empowerment) แต่เป็นสัญลักษณ์ของ การชำระให้บริสุทธิ์โดยการทำลาย (purification through destruction)

โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการอีแวนเจลิคอลส่วนใหญ่ยืนยันการตีความข้างต้น แม้ว่าบางท่าน อาทิ ดร. ดี. เอ. คาร์สัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาพันธสัญญาใหม่ที่โดดเด่นประจำสถาบันศาสนศาสตร์ Trinity Evangelical Divinity School ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลและได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะนักศาสนศาสตร์อีแวนเจลิคอล จะนำเสนอแง่มุมที่ละเอียดอ่อนกว่าก็ตาม แม้ ศ.ดร. คาร์สัน จะยอมรับว่า ไฟ มักเป็นสัญลักษณ์แห่งการพิพากษา แต่ท้ายที่สุด เขากลับสนับสนุนแนวคิดเรื่องการบัพติศมาที่รวมเป็นหนึ่งเดียว (Unified baptism) ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และไฟถูกประทานให้กับผู้ที่กลับใจ (ผู้เชื่อ) เพื่อเป็นประสบการณ์แห่งการชำระให้บริสุทธิ์ โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า คำบุพบทในภาษากรีกที่ใช้ร่วมกัน บ่งชี้ถึงการบัพติศมาครั้งเดียว และ ยังอ้างอิงถึงข้อความจากพันธสัญญาเดิมที่กล่าวถึงไฟในฐานะสิ่งที่ชำระให้บริสุทธิ์แทนที่จะเป็นการทำลาย (อิสยาห์ 1:25; มาลาคี 3:2-3; เศคาริยาห์ 13:9) (Carson, 1984, pp. 104–105)

ในทำนองเดียวกัน ศ.ดร. อาร์.ที. ฟรานซ์ (ถึงแก่กรรมปี 2012) เป็นนักวิชาการพันธสัญญาใหม่ชาวแองกลิคันที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ท่านเป็นที่รู้จักจากผลงานในฐานะอาจารย์ใหญ่ของ สถาบันศาสนศาสตร์ Wycliffe Hall, Oxford, มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และในฐานะศาสตราจารย์อาวุโส สาขาพันธสัญญาใหม่ที่ London Bible College (ปัจจุบันคือ London School of Theology) เขียนว่า “ไฟ ในข้อ 12 ต้องได้รับการตีความในบริบทของการพิพากษา” (France, 2007, p. 112) และ ศ.ดร. ลีออน มอร์ริส นักวิชาการพันธสัญญาใหม่ชาวออสเตรเลียและศิษยาภิบาลแองกลิคันที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างมากจากการดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของ วิทยาลัยศาสนศาสตร์คริสเตียน ประเทศออสเตรเลีย Ridley College และ ผู้บริหาร Tyndale House ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนานาชาติด้านการศึกษาพระคัมภีร์ ประเทศอังกฤษ เห็นด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่า “ไฟ” ชี้ไปที่ “การพิพากษาอันน่าสะพรึงกลัวที่รอคอยผู้ที่ไม่กลับใจ [ไม่ใช่ผู้เชื่อ]” (Morris, 1992, p. 60) ด้วยเหตุนี้ การตีความ "การบัพติศมาด้วยไฟ" ว่าเป็นประสบการณ์ทางฝ่ายวิญญาณในเชิงบวกนั้น จึงขัดแย้งกับบริบทโดยตรงและบริบทในภาพรวมของพระคัมภีร์

ผลลัพธ์สองประการ: พระพรและการพิพากษา

นักอรรถาธิบายพระคัมภีร์หลายท่านในกลุ่มอีแวนเจลิคอลเห็นพ้องกันว่า พระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 ควรเข้าใจว่าเป็นการอธิบายถึง ผลลัพธ์สองประการ (Dual outcome) แทนที่จะอธิบายถึงเหตุการณ์เดียว โดยผลลัพธ์ประการที่หนึ่ง คือ บรรดาผู้ที่ตอบสนองต่อพระคริสต์ด้วยความเชื่อจะได้รับการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ อันเป็นกระบวนการแห่งการบังเกิดใหม่ (Regeneration) การชำระให้บริสุทธิ์ (Sanctification) และการผนวกเข้าสู่พระกายของพระคริสต์ (1 โครินธ์ 12:13; ทิตัส 3:5-6)

ส่วนประการที่สอง ผู้ที่ปฏิเสธพระคริสต์จะเผชิญกับการบัพติศมาด้วยไฟ ซึ่งสื่อถึงการพิพากษาของพระเจ้า โดย ดร. เครก บลอมเบิร์ก ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาพันธสัญญาใหม่ที่โดดเด่นจาก Denver Seminary ประเทศสหรัฐอเมริกา และประธานสมาคมศาสนศาสตร์อีแวนเจลิคอล (Evangelical Theological Society, USA) ท่านเป็นนักวิชาการสาขาพันธสัญญาใหม่ชาวอเมริกันผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูง นำเสนอมุมมองอันลึกซึ้งที่เชื่อมโยงภาพลักษณ์ของไฟทั้งใน การชำระให้บริสุทธิ์สำหรับผู้เชื่อ และ การพิพากษาสำหรับผู้ไม่เชื่อ เขาชี้ให้เห็นว่า "โครงสร้างทางไวยากรณ์ที่ปรากฎในภาษากรีกบ่งชี้ว่า ข้อที่ 11 อ้างถึงการบัพติศมาเดียว ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์และไฟ" สำหรับผู้เชื่อ การบัพติศมานี้สะท้อนถึง "กิจกรรมการชำระและการหลอมให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์" ในขณะที่ สำหรับผู้ไม่เชื่อ การบัพติศมานี้จบลงด้วยการพิพากษา (Blomberg, 1992, p. 80).

ในทำนองเดียวกัน ศ.ดร. ดี. เอ. คาร์สัน ได้พิจารณาทางเลือกในการตีความทั้งสองแบบ และในที่สุดก็สนับสนุนการบัพติศมาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือพระวิญญาณและไฟถูกประทานให้แก่ผู้กลับใจ (ผู้เชื่อ) ในฐานะ ประสบการณ์การชำระให้บริสุทธิ์เพียงครั้งเดียว เขาตั้งข้อสังเกตว่าคำบุพบทภาษากรีกตัวเดียวที่ใช้กำกับทั้ง “พระวิญญาณ” และ “ไฟ” สนับสนุนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ และเขาอ้างอิง การใช้ไฟในพระคัมภีร์เดิมในฐานะตัวแทนแห่งการถลุงให้บริสุทธิ์ (อิสยาห์ 1:25; มาลาคี 3:2–3; เศคาริยาห์ 13:9) ศ.ดร. คาร์สัน สรุปว่าการบัพติศมาของพระเยซูเป็นการเปิดศักราชใหม่ของพระเมสสิยาห์ ซึ่งมีลักษณะของการชำระให้บริสุทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ได้เป็นเพียงการพิพากษา (Carson, 1984, pp. 104–105)

ศ.ดร. อาร์.ที. ฟรานซ์ เสนอแนวคิดการบัพติศมาที่รวมเป็นหนึ่งเดียวเช่นเดียวกัน คือ "พระวิญญาณบริสุทธิ์และไฟ" ซึ่งประทานแก่ผู้ที่กลับใจ [ผู้เชื่อ] เขายอมรับว่าไฟในมัทธิว 3:10 และ 3:12 เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของ การพิพากษาจากพระเจ้า แต่ยังคงยืนยันว่าในข้อ 11 ไฟก็แสดงถึง การชำระให้บริสุทธิ์ ด้วย เขาเขียนว่า "การเสด็จมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเผาผลาญสิ่งที่เลวร้ายออกไป และชำระประชากรของพระเจ้าที่กลับใจ [ผู้เชื่อ] ให้บริสุทธิ์" โดยอ้างอิงภาพลักษณ์ของไฟที่ใช้ในการชำระให้บริสุทธิ์จากพระคัมภีร์เดิม (อิสยาห์ 4:4; เศคาริยาห์ 13:9; มาลาคี 3:2–4) (France, 2007, pp. 160–162) ศ.ดร. อาร์.ที. ฟรานซ์ เน้นย้ำว่าการบัพติศมานี้เป็นสัญญาณของการทำให้คำพยากรณ์ของพระเมสสิยาห์สำเร็จ ซึ่งพระเยซูนำมาซึ่งการฟื้นฟูและการชำระล้างภายใน ไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรมภายนอก เขามองว่า "ไฟ" ของยอห์นไม่ได้เป็นเพียงพระพิโรธที่ทำลายล้าง แต่พระราชกิจแห่งการชำระให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณสำหรับผู้ที่หันกลับมาหาพระเจ้า [ผู้เชื่อ] เช่นกัน

ท่าน จอห์น กิลล์ นักศาสนศาตร์ และนักวิชาการพระคัมภีร์คณะนิกายแบ๊บติสต์เฉพาะ (Particular Baptist) ชาวอังกฤษผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูง ท่านมีชื่อเสียงจากการประพันธ์อรรถกถาพระคัมภีร์ฉบับแบ๊บติสต์ฉบับแรกที่ครอบคลุมทั้งเล่ม และศาสนศาสตร์ระบบแบ๊บติสต์ฉบับแรก ท่าน จอห์น กิลล์ เขียนจากมุมมองของคณะนิกายรีฟอร์ม (Reformed) มีทัศนะที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน เขาตีความวลี "พระองค์จะให้พวกท่านรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ" หมายถึง การบัพติศมาสองแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ หนึ่ง คือ การบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์สำหรับผู้ที่ได้รับการบังเกิดใหม่ และ อีกหนึ่ง คือ การบัพติศมาด้วยไฟสำหรับผู้ที่ไม่กลับใจ [ไม่เป็นผู้เชื่อ] ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษา ท่าน จอห์น กิลล์ แย้งว่าบริบทโดยตรงของมัทธิวบทที่ 3 สนับสนุนแนวคิดนี้ ทั้งคำเตือนเรื่องพระพิโรธ (ข้อ 7) การเผาแกลบ (ข้อ 12) และการโค่นต้นไม้ที่ไม่มีผล (ข้อ 10) ล้วนชี้ไปที่ไฟในฐานะการแก้แค้นจากพระเจ้า เขายังอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลของรับบีชาวยิวที่กล่าวถึงการ "จุ่มลงในไฟ" ว่าเป็นภาพของการชำระให้บริสุทธิ์ผ่านการลงโทษในยุคสุดท้าย ดังนั้น สำหรับท่าน จอห์น กิลล์ "ไฟ" จึงไม่ใช่การชำระให้บริสุทธิ์แต่เป็นการลงโทษ ที่ซึ่งความยุติธรรมอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่หลั่งไหลลงมายังผู้ที่ต่อต้านการทรงเรียกของพระวิญญาณ (Gill, สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2025)

ศ.ดร. ลีออน มอร์ริส ก็สนับสนุนมุมมองที่ว่าวลี "พระวิญญาณและไฟ" หมายถึงการบัพติศมาที่เป็นหนึ่งเดียว เขาตั้งข้อสังเกตว่าเนื่องจากไม่มีคำบุพบทภาษากรีกแยกต่างหากนำหน้าคำว่า "ไฟ" วลีนี้จึงควรถูกเข้าใจว่าเป็นการบรรยายถึงประสบการณ์เดียว ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันสองอย่าง แม้จะยอมรับว่า "ไฟ" มักเป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาในพระคัมภีร์ แต่ ศ.ดร. ลีออน มอร์ริส แต่ท่านตีความในที่นี้ว่าเป็นการชำระให้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมโยงกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านเขียนว่า "การให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินไปพร้อมกับการให้บัพติศมาด้วยไฟ ในบริบทนี้มีความหมายถึงการชำระให้บริสุทธิ์" โดยเชื่อมโยงกับพระธรรมกิจการ บทที่ 2 และวันเพ็นเทคอสต์ เขาสรุปว่า ไฟแสดงถึงการทำงานของพระวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงและชำระให้บริสุทธิ์ ไม่ใช่พระพิโรธของพระเจ้า (Morris, 1992, pp. 60–62)

ดังนั้น ทั้ง ศ.ดร. เครก บลอมเบิร์ก และ ศ.ดร. ดี. เอ. คาร์สัน จึงมาบรรจบกันที่มุมมองที่ยังคงรักษาความตึงเครียดทางศาสนศาสตร์ไว้ คือ การบัพติศมาด้วย "พระวิญญาณ-ไฟ" เป็นการ ชำระผู้ที่สัตย์ซื่อให้บริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็ เปิดโปงและประณามการต่อต้านของผู้ที่ไม่กลับใจ [ผู้ไม่เชื่อ] ในที่สุด มุมมองของพวกท่านจึงสร้างสมดุลระหว่างการให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงฝ่ายวิญญาณ (spiritual transformation) กับความกังวลของคริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอลในเรื่องความสมบูรณ์ของบริบท (contextual integrity)

เมื่อพิจารณารวมกันแล้ว การตีความของ นักวิชาการ ทั้งหลาย ศ.ดร. บลอมเบิร์ก ศ.ดร. คาร์สัน ศ.ดร. มอร์ริส ศ.ดร. ฟรานซ์ ศ.ดร. กรูเด็ม ศ.ดร. คีนเนอร์ และ ศ.ดร. สตอร์มส์ สะท้อนให้เห็นถึงการเน้นย้ำร่วมกันในเรื่องการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณและไฟที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งทำหน้าที่ทั้งใน ด้านการชำระให้บริสุทธิ์และในด้านเกี่ยวกับยุคสุดท้าย แม้ว่าพวกท่านจะมีความแตกต่างเล็กน้อยในด้านการเน้นย้ำ กล่าวคือ ศ.ดร. บลอมเบิร์ก เน้นผลกระทบสองประการ (การชำระให้บริสุทธิ์ และการพิพากษา) ศ.ดร. คาร์สัน มุ่งเน้นไปที่ การชำระให้บริสุทธิ์ ผ่านการทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ของพระเมสสิยาห์ ศ.ดร. ฟรานซ์ รวมทั้งด้าน การพิพากษาและการขัดเกลาของไฟ เข้าด้วยกัน ศ.ดร. มอร์ริส เน้นการชำระให้บริสุทธิ์ที่มีเสียงสะท้อนจากการฟื้นฟู ศ.ดร. กรูเด็ม เน้นด้าน การพิพากษาที่ชำระให้บริสุทธิ์ ศ.ดร. คีนเนอร์ แยกความ แตกต่างระหว่างการให้พลังโดยพระวิญญาณและการพิพากษา และ ศ.ดร. สตอร์มส์ เน้นพระคริสต์ในฐานะผู้ให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณ โดยทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่าการบัพติศมาของพระเยซูนำมาซึ่ง การเปลี่ยนแปลงภายในสำหรับผู้ที่กลับใจ [ผู้เชื่อ] ภาพลักษณ์ของไฟ แม้จะเชื่อมโยงกับการพิพากษามาแต่เดิม แต่ในบริบทนี้ถูกมองว่าเป็นวิธีการใน การขัดเกลาและชำระให้บริสุทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังของคำพยากรณ์และการทำให้สำเร็จในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่

ในทางตรงกันข้าม ท่าน จอห์น กิลล์ นำเสนอการตีความแบบแบ่งแยกอย่างชัดเจน (Dualistic reading) คือ พระวิญญาณสำหรับผู้ที่รอด (ผู้เชื่อ) และไฟสำหรับผู้ที่ถูกลงโทษ (ผู้ไม่เชื่อ) การตีความของเขายังคงรักษาการแยกส่วนอย่างเคร่งครัด โดยพรรณนาถึงไฟว่าเป็นพระพิโรธของพระเจ้าที่หลั่งไหลลงมาบนผู้ไม่กลับใจ (ผู้ไม่เชื่อ) เท่านั้น ความแตกต่างนี้เน้นย้ำถึงความตึงเครียดในการตีความที่ยังคงดำเนินอยู่ ว่าไฟในพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 นั้นเป็นหลักในการประณามหรือการชำระให้บริสุทธิ์ พระกิตติคุณยืนยันประเด็นเรื่องการแบ่งแยกระหว่างผู้กลับใจและผู้ไม่กลับใจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำอุปมาเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเยซู (เช่น มัทธิว 13:30, 49–50)

การใช้แหล่งข้อมูลของชาวยิวและการตีความความล้ำลึก ในทางที่ผิด

คริสตจักรไทยและกลุ่มที่คล้ายคลึงกันบางกลุ่ม มักอ้างอิงถึง งานเขียนเกี่ยวกับความล้ำลึกของชาวยิว ซึ่งตีความไฟในฐานะของการชำระให้บริสุทธิ์จากพระเจ้า แม้ว่างานเขียนของชาวยิวบางส่วนหลังยุคพระคัมภีร์จะมองไฟในแง่บวก เช่น ตีความไฟในฐานะอุปมาสำหรับการทรงสถิตหรือความบริสุทธิ์ของพระเจ้า แต่สิ่งเหล่านี้ก็ ไม่ได้มีสิทธิอำนาจเหนือบริบทในพระคัมภีร์ ของพระกิตติคุณ มัทธิวและมาระโก แม้กระทั่ง ท่าน จอห์น กิลล์ ผู้ที่มักถูกอ้างถึงในคำสอนเหล่านี้ ก็เพียงแต่อ้างถึงธรรมเนียมของชาวยิวที่กล่าวว่า “พระเจ้าผู้บริสุทธิ์ทรงให้บัพติศมาด้วยไฟ แต่เขา ไม่ได้ถือว่าสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญในการตีความ ท่าน จอห์น กิลล์ ยังคงยึดมั่นในประเด็นเรื่อง การพิพากษา ซึ่งสอดคล้องกับข้อพระคัมภีร์โดยรอบ (Gill, n.d.)

ในการตีความพระคัมภีร์ที่ถูกต้องตามหลักการนั้น ธรรมเนียมที่อยู่นอกสารบบ (non-canonical traditions) ไม่สามารถกำหนดความหมายของพระคัมภีร์ในสารบบ (canonical Scripture) ได้ การตีความโดยอ่านตามความหมายเพิ่มเติมหรือยัดเยียดเข้าไปในข้อความ (eisegesis) เพื่อให้สอดคล้องกับประสบการณ์ส่วนตัวที่เน้นการอัศจรรย์ แต่ขัดแย้งกับบริบทโดยตรงของข้อความนั้น ถือเป็น ความผิดพลาดทางระเบียบวิธีการตีความ ซึ่งหลักการแห่งการปฏิรูปศาสนาที่ว่า Sola Scriptura หรือ พระคัมภีร์เท่านั้น เรียกร้องให้ ตีความพระคัมภีร์ด้วยพระคัมภีร์เอง ไม่ใช่จากประสบการณ์ล้ำลึกหรือการคาดเดาของรับบี (ธรรมจารย์ธรรมบัญญัติยิว)

พระราชกิจที่แท้จริงของพระวิญญาณบริสุทธิ์: การบังเกิดใหม่และการชำระให้บริสุทธิ์

ศาสนศาสตร์เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ให้ความสำคัญกับ การเปลี่ยนแปลงฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่การสำแดงทางกายภาพที่วุ่นวายหรือไร้ระเบียบ ถึงแม้ว่า พระธรรมกิจการ จะบันทึกเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นบางอย่าง (เช่น กิจการ 2; กิจการ 10) แต่ บรรทัดฐาน ทั่วทั้งพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่คือ การทำพระราชกิจอย่างเงียบๆ ของพระวิญญาณในการทำให้เกิดผล ได้แก่ ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข ความอดทน การมีน้ำใจ ความดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง (กาลาเทีย 5:22–23) มากไปกว่านั้น พระวิญญาณทรงชี้นำผู้เชื่อไปหาพระคริสต์ (ยอห์น 16:13–14) ทรงทำให้สำนึกในบาป (ยอห์น 16:8) และทรงเสริมกำลังเพื่อประกาศข่าวประเสริฐ (กิจการ 1:8) ที่กล่าวมาทั้งหมด พระวิญญาณทรงดำเนินพระราชกิจในลักษณะที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและเสริมสร้าง (1 โครินธ์ 14:33, 40)

การสำแดงต่างๆ ที่คริสตจักรไทยหลายแห่งมักส่งเสริม เช่น การหัวเราะอย่างควบคุมไม่ได้ การ "ล้มลงในพระวิญญาณ" หรือการอาเจียนนั้น ไม่มีหลักฐานทางพระคัมภีร์ ว่าเป็นหมายสำคัญของการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ การปฏิบัติเหล่านี้คล้ายคลึงกับ พิธีกรรมที่แสดงความเคลิบเคลิ้ม (Ecstatic) หรือพิธีกรรมไสยศาสตร์ (superstitious rituals) มากกว่าการนมัสการที่เต็มด้วยพระวิญญาณ พระคัมภีร์สอนว่าพระวิญญาณของพระเจ้านำมาซึ่ง การรู้จักบังคับตน (2 ทิโมธี 1:7) ไม่ใช่การสูญเสียการควบคุม

การตีความของพันธกิจไทยหลายแห่ง: กรณีของการตีความด้วยประสบการณ์แบบตกขอบ

ตัวอย่างที่ชัดเจนของอันตรายในการตีความรูปแบบดังกล่าวซึ่งสามารถเห็นได้ในคำสอนของคริสตจักรและพันธกิจแห่งหนึ่งในประเทศไทย คริสตจักรนี้ส่งเสริมแนวคิด "การบัพติศมาด้วยไฟ" ใน มัทธิว 3:11 ในความหมายของ ประสบการณ์เหนือธรรมชาติของการเพิ่มพลังฝ่ายวิญญาณ ซึ่งมีลักษณะเป็นการสำแดงทาง อารมณ์ที่รุนแรง เช่น การหัวเราะ การร้องไห้ การสั่น การล้มลง หรือแม้แต่การอาเจียนในระหว่างการนมัสการ การตีความเช่นนี้ อ้างอิงอย่างหลวมๆ จาก กิจการ 2:3 ("ลิ้นเหมือนเปลวไฟ") และประเพณีลึกลับของชาวยิว โดยอ้างว่าไฟเป็นตัวแทนของการทรงสถิตของพระเจ้าหรือความรักที่ชำระให้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม การตีความเช่นนี้ได้ ดึงภาพลักษณ์ของไฟออกไปจากบริบทพระคัมภีร์ (กล่าวคือ การตีความที่ผิดจากบริบทพระคัมภีร์) และยัดเยียดประสบการณ์แบบพระวิญญาณชุดหนึ่งเข้าไปซึ่งพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ไม่ได้กล่าวถึงหรือรับรอง

ในความเป็นจริง คริสตจักรไทยหลายแห่ง ได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างหลักศาสนศาสตร์ในพระคัมภีร์กับประสบการณ์ลึกลับคลุมเครือ โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างการประพันธ์ของเรื่องที่อยู่ใกล้เคียงในมัทธิว 3 ซึ่ง "ไฟ" เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับ การพิพากษา ในข้อ 12 ("พระองค์จะเผาแกลบให้หมดไปด้วยไฟที่ไม่รู้ดับ") แต่กลับนำเสนอประสบการณ์การนมัสการที่เต็มไปด้วยอารมณ์ซึ่งไม่มีการรับรองภายในบริบทของพระคัมภีร์ และสิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการแสดงออกทางวิญญาณเท่านั้น แต่เป็นการตีความหมายพระคัมภีร์ ที่ผิดพลาด โดยการแทนที่คำเตือนในพระคัมภีร์ที่สุขุมด้วยความรู้สึกเร้าใจฝ่ายวิญญาณส่วนตัว

แม้ว่าพระคัมภีร์จะยืนยันอย่างชัดเจนว่าพระวิญญาณทรงเสริมกำลังผู้เชื่อในการเป็นพยานและเปลี่ยนแปลงพวกเขาในความบริสุทธิ์ แต่ ไม่มีหลักฐานทางพระคัมภีร์ ว่า การบัพติศมาด้วยไฟ เป็นการเผชิญหน้าอันล้ำลึกที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางกายภาย แต่ในมุมมองของพระคัมภีร์ ไฟมักเป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาจากพระเจ้าหรือการชำระให้บริสุทธิ์ ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ควบคุมไม่ได้

สิ่งที่ พันธกิจไทยเหล่านี้แสดงให้เห็น คือ จุดจบโดยธรรมชาติของวิธีการตีความพระคัมภีร์ที่ไร้การควบคุม ซึ่งพระคัมภีร์ถูกจัดให้อยู่ภายใต้ประสบการณ์ และอุปมาถูกกำหนดความหมายใหม่ด้วยปรากฏการณ์แทนที่จะเป็นความหมายตามตัวอักษรของข้อความ คำสอนของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าความตกขอบของคาริสมาติก หากปล่อยไว้โดยไร้การตรวจสอบ สามารถเปลี่ยนหมวดหมู่ทางพระคัมภีร์ไปสู่ หลักศาสนศาสตร์ที่เน้นการแสดง (theology of spectacle) ได้ ในการทำเช่นนั้น ได้มันบิดเบือน “การบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ” ซึ่งอาจ ทำให้ผู้เชื่อที่จริงใจไขว้เขวจาก (1) การกลับใจที่แท้จริง (2) การเป็นสาวกที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง และ (3) ความชัดเจนทางศาสนศาสตร์ การแสดงออกเหล่านี้สะท้อนถึงการพึ่งพาการสำแดงที่มองเห็นได้มากเกินไป แทนที่จะเป็นการสอนที่มีรากฐานจากพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งมักนำไปสู่การบิดเบือนความหมายในพระคัมภีร์1

นักตีความกลุ่มที่เชื่อในความต่อเนื่องของของประทาน (continuationist) และ คาริสมาติก บางท่านโต้แย้งว่า “ไฟ” ในพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 เป็นสัญลักษณ์ของการเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ หรือการชำระให้บริสุทธิ์ ไม่ใช่การพิพากษา พวกเขามักอ้างอิงกิจการ บทที่ 2 ข้อ 3 (เปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น) อิสยาห์ บทที่ 6 ข้อ 6–7

หรือภาพลักษณ์ของรับบีเกี่ยวกับการทรงสถิตของพระเจ้าในฐานะไฟ แม้ว่าข้อความเหล่านี้จะพรรณนาถึงไฟในแง่บวก แต่ก็ต้องไม่ละเลยบริบททางวรรณกรรมโดยตรงของมัทธิวบทที่ 3 ซึ่ง “ไฟ” ถูกเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพระพิโรธของพระเจ้าและการแยกออกในวาระสุดท้าย (ข้อ 10, 12)

โครงสร้างของพระธรรมตอนนี้เชื่อมโยงไฟกับการเผาแกลบและการทำลายที่ไม่รู้ดับ ไม่ใช่การสำแดงทางอารมณ์หรือการสำแดงที่เร่าร้อน แม้ว่าจะรวมการชำระให้บริสุทธิ์ด้วย แต่ก็ไม่ใช่การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ ตามประสบการณ์ที่ปรากฏ แต่เป็นการพิพากษาของพระเจ้าที่ถลุงหรือชำระให้บริสุทธิ์ หลักศาสนศาสตร์ตามพระคัมภีร์เรียกร้องให้ใช้พระคัมภีร์ตีความพระคัมภีร์เอง ไม่ใช่ประสบการณ์แบบกลุ่มคาริสมาติกในช่วงหลัง หรือ ธรรมเนียมที่อยู่นอกพระคัมภีร์ ดังที่ได้รับการยืนยันโดยนักวิชาการอีแวนเจลิคอล เช่น ศ.ดร. กรูเด็ม (Grudem, 1994, p. 1079), ศ.ดร. สตอร์มส์ (Storms, 2012, ส่วนที่กล่าวถึงการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณและมัทธิว 3:11), และ ศ.ดร. คีนเนอร์ (Keener, 2012, pp. 84-85)

วลี “การบัพติศมาด้วยไฟ” ชี้ไปที่ การถลุง (ชำระ) และการพิพากษา อย่างชัดเจน ไม่ใช่การสำแดงที่เต็มไปด้วยอารมณ์หรือควบคุมไม่ได้ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในรูปแบบของกลุ่มคาริสมาติกบางแห่ง ดังนั้น ความพยายามในการนำ การเสริมพลัง/ประทานฤทธิ์เดชหรือฤทธิ์อำนาจ หรือ การเผชิญหน้าอันล้ำลึก เข้าไปในข้อความนี้โดยไม่มีบริบทรองรับ คือ การตีความโดยนำหรือยัดเยียดความหมายอื่นๆ เข้าไปในพระคัมภีร์ (Eisegesis) ไม่ใช่ อรรถวิเคราะห์พระคัมภีร์ (Exegesis) คริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคัลจะต้องยึดมั่นในการตีความตามหลักไวยากรณ์และประวัติศาสตร์ ซึ่งมีรากฐานมาจากบริบทตามสารบบ และ วัตถุประสงค์แห่งการไถ่ของพระคริสต์

บทสรุป: การป้องกันของคริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอล

แม้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเปลี่ยนแปลงและชำระให้บริสุทธิ์จริง แต่การงานแห่งการชำระให้บริสุทธิ์นี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่วุ่นวายหรือเป็นเรื่องลึกลับตามที่ขบวนการร่วมสมัยของไทยบางกลุ่มนำเสนอ การตีความ “การบัพติศมาด้วยไฟ” ใน มัทธิว 3:11 และ มาระโก 1:8 จะต้องได้รับการควบคุมโดยบริบททางพระคัมภีร์และหลักศาสนศาสตร์ ซึ่งชี้ไปที่ การพิพากษาและการถลุงให้บริสุทธิ์ อย่างชัดเจน ไม่ใช่การแสดงอารมณ์หรือการสำแดงที่ควบคุมไม่ได้

ผลลัพธ์สองประการที่พระคัมภีร์นำเสนอ คือ พระวิญญาณสำหรับผู้ที่กลับใจ (ผู้เชื่อ) และ ไฟสำหรับผู้ที่ไม่กลับใจ (ผู้ไม่เชื่อ)นั้นสอดคล้องกับทั้งบริบทโดยตรงและเรื่องราวภาพรวมในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการทำให้พันธสัญญาสำเร็จและการชำระให้บริสุทธิ์จากพระเจ้า การนำปฏิกิริยาทางกายภาพ เช่น การหัวเราะ การล้ม หรือการอาเจียน ไปเชื่อมโยงกับ "ไฟ" ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยอาศัยการตีความที่ผิด เป็นการบ่อนทำลายอำนาจของพระวจนะพระเจ้า และทำให้คริสตจักรเกิดความสับสนเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงฝ่ายวิญญาณ

คริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอลจะต้องกลับไปสู่การอ่านพระคัมภีร์ที่สัตย์ซื่อตามบริบท ซึ่งให้ความสำคัญกับหลักศาสนศาสตร์เหนือประสบการณ์ นี่ไม่ใช่เพียงแค่การฝึกฝนทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นในการดูแลของผู้เลี้ยง ดังที่ 2 ทิโมธี 4:2–5 กำชับไว้ เราจะต้องประกาศพระวจนะ ตักเตือน ว่ากล่าว และหนุนใจ ด้วยความอดทนอย่างยิ่ง รวมถึงการสอนอย่างรอบคอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ผู้คนจะไม่ทนต่อคำสอนที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ไฟของพระวิญญาณไม่ใช่พลังที่จะสร้างความบันเทิงให้แก่เนื้อหนัง แต่เป็นไฟที่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และแยกผู้เชื่อไว้สำหรับการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ ดังที่ทิตัส 2:14 (THSV11) เตือนเราว่า พระคริสต์ "พระองค์ประทานพระองค์เองแก่เรา เพื่อไถ่เราให้พ้นจากการอธรรมทุกอย่าง และเพื่อชำระเราให้บริสุทธิ์ จะได้เป็นประชากรของพระองค์โดยเฉพาะซึ่งมีใจกระตือรือร้นที่จะทำการดี"

พระราชกิจของพระวิญญาณคือการสร้าง การรู้จักบังคับตน ความบริสุทธิ์ และ พันธกิจที่มีข่าวประเสริฐเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ความวุ่นวาย (กาลาเทีย 5:22–23; 1 โครินธ์ 14:33) ด้วยเหตุนี้ การฟื้นฟูที่แท้จริงจึงต้องหยั่งราก ไม่ใช่ในหมายสำคัญและความรู้สึกที่เร่าร้อน แต่ในความจริงตามพระคัมภีร์และการเชื่อฟังที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ ดังที่พระธรรมโรม บทที่ 12 ข้อ 1–2 หนุนใจว่า ให้ผู้เชื่อถวายตัวเพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า นี่คือการนมัสการฝ่ายวิญญาณที่แท้จริง ซึ่งหล่อหลอมโดยการเปลี่ยนแปลงความคิด ไม่ใช่การกระตุ้นอารมณ์

ดังนั้น คริสเตียนโคริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอลในประเทศไทยและคณะนิกายอื่นๆ จึงต้องระมัดระวังการตีความที่ขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ และ กลับมามุ่งมั่นใน หลักศาสนศาสตร์ตามหลักการพระคัมภีร์ ความชัดเจนในหลักคำสอน และ ความบริสุทธิ์ที่ได้รับการเสริมกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ อีกครั้ง

ตาราง: สรุปเปรียบเทียบการตีความมัทธิว 3:11

นักวิชาการ มุมมองต่อ ‘ไฟ’ เป็นหนึ่งเดียวหรือ แยกออกเป็นสองประการ ผู้อ่านในพระคัมภีร์ การให้ความสำคัญทางศาสนศาสตร์ ข้อมูลอ้างอิงหลัก
John Gill การพิพากษา (พระพิโรธของพระเจ้า) แยกกัน (พระวิญญาณสำหรับผู้ที่รอด, ไฟสำหรับผู้ไม่รอด) ผู้อ่านชาวยิวหลากหลายกลุ่ม (ผู้ที่ยังไม่ได้กลับใจ หรือ ผู้ไม่เชื่อ) การพิพากษาในยุคสุดท้าย, ภาพเปรียบเทียบของรับบีที่มองไฟเป็นการลงโทษ Gill, Exposition of the Entire Bible
D.A. Carson การชำระให้บริสุทธิ์ (โดยมีพื้นหลังเป็นการพิพากษา) รวมกัน (พระวิญญาณ-ไฟ สำหรับคนกลุ่มเดียวกัน) คนที่กลับใจและกำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ ยุคพระเมสสิยาห์, การเปลี่ยนแปลงที่ถลุง(ชำระ)ให้บริสุทธิ์, อ้างอิงภาพลักษณ์ของไฟในพระคัมภีร์เดิม Carson, Expositor’s Bible Commentary (1984), หน้า 104–105
Craig Blomberg การชำระให้บริสุทธิ์และการพิพากษา รวมกัน (พระวิญญาณและไฟทำงานร่วมกัน) ผู้เชื่อและคนทั่วไป ความเป็นหนึ่งอันเดียวกันทางไวยากรณ์ ผลลัพธ์สองประการของไฟ (การชำระหรือลงพิพากษา) Blomberg, New American Commentary (1992), หน้า 80
R.T. France การชำระให้บริสุทธิ์ (เชื่อมโยงกับการพิพากษา) รวมกัน (พระวิญญาณ-ไฟแยกกันไม่ได้) ประชากรของพระเจ้าที่กลับใจเป็นหลัก การเติมเต็มคำพยากรณ์, พระวิญญาณในฐานะไฟแห่งการชำระให้บริสุทธิ์ France, NICNT: Matthew (2007), หน้า 160–162
Leon Morris การชำระให้บริสุทธิ์ (ไม่ใช่การพิพากษา) รวมกัน (ไม่มีคำบ่งบอกแยกแยะ) ผู้ติดตามพระเมสสิยาห์ ความเชื่อมโยงกับพระธรรมกิจการ บทที่ 2, ภาพลักษณ์ของการฟื้นฟู, พระวิญญาณ-ไฟ ในฐานะการเสริมพลัง Morris, Pillar Commentary (1992), หน้า 60–62

การประยุกต์ใช้: การปกป้องความเชื่อจากมุมมองของคริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอล

ความเข้าใจของคริสเตียนโปรเตสแตนต์อีแวนเจลิคอล ต่อพระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 ที่กล่าวถึง การให้บัพติศมาของพระเยซูด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และไฟ เป็น การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวและเป็นการชำระให้บริสุทธิ์สำหรับผู้ที่กลับใจ(ผู้เชื่อ) ได้มอบความสม่ำเสมอทางศาสนศาสตร์และรากฐานการอภิบาลที่เหมาะสมในการ ปกป้องความเชื่อ เมื่อเผชิญหน้ากับ การบิดเบือนทางประสบการณ์ (Experiential distortion)

โดยสรุปแล้ว การตีความ "พระวิญญาณและไฟ" ใน พระธรรมมัทธิว บทที่ 3 ข้อ 11 ที่มองว่าเป็น การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวและเป็นการชำระให้บริสุทธิ์นั้น ไม่เพียงแต่ถูกต้องตามหลักการตีความพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ยัง จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสาวกที่แข็งแกร่งและการแยกแยะความจริงตามพระคัมภีร์ ทั้งในบริบทของประเทศไทยและที่อื่น ๆ



บรรณานุกรม


เกี่ยวกับผู้เขียน

Author Photo

ศจ.ดร. จันทร์สมร ชัยศักดิ์ (ศาสตราจารย์ ด้านศาสนาศึกษาและศาสนศาสตร์มิชชัน) (ไทย, ศิษยาภิบาลคริตจักร์แม่น้ำโขงโนนประเสริฐ) นักศาสนศาสตร์ และศาสนศาสตร์มิชชั่น จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกรรมาธิการศาสนศาสตร์ และกรรมาธิการเสรีภาพทางศาสนา ของสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (Evangelical Fellowship of Thailand) และของสหกิจเอเชีย (Asia Evangelical Alliance) โดยมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาศาสนศาสตร์และความคิดริเริ่มด้านเสรีภาพทางศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ดร. จันทร์สมร ยังดำรงตำแหน่งนักศาสนศาสเอเชียของสหกิจโลก (World Evangelical Alliance) ใน GA 2025 Theological Project ด้วย ด้วยประสบการณ์ด้านศาสนศาสตร์และการเป็นผู้นำกว่า 40 ปี ดร. จันทร์สมร ได้เป็นผู้นำและอาจารย์สอนที่สถาบันการศึกษาและศาสนศาสตร์คริสเตียน โครงการพัฒนาชุมชน และการก่อตั้งคริสตจักรในประเทศไทยและลาว ดร.จันทร์สมร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Theology and Religious Studies ด้านศาสนศานตร์และศาสนศึกษา จาก Evangelische Theologische Faculteit (เบลเยียม) และปริญญาเอก Doctor of Ministry and Master of Divinity ด้านศาสนศาสตร์มิชชั่นจาก Mid-America Baptist Theological Seminary (สหรัฐอเมริกา) และ วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาศาสนา จาก Liberty University (USA) และสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการเป็นผู้นำขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Harvard University มหาวิทยาลัยเยล Yale University และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด Oxford University พร้อมกันนี้ ดร.จันทร์สมร ยังรับใช้เป็นกรรมการและวิทยากรประจำขององค์กรต่างๆ เช่น SEANET Missiological Forum และ Lausanne Movement’s Worldplace, World Evangelical Alliance, และ Asian Society of Missiology

💬 ร่วมแสดงความคิดเห็น: ร่วมสนทนาบน Facebook

Page Views:

Visit counter For Websites